ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนเศรษฐเสถียร เป็นโรงเรียนรัฐบาล สังกัดกองการศึกษาเพื่อคนพิการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกของประเทศไทย พัฒนาขึ้นมาจากหน่วยทดลองสอนคนหูหนวกโรงเรียนเทศบาล ๑๗ (วัดโสมนัสวรวิหาร) กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๔

ต่อมาในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๙๕ คุณหญิงโต๊ะ นรเนติบัญชากิจ ได้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สิน มีเงินสด ที่ดิน และบ้านส่วนตัวของท่าน ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๓๗ ถนนพระราม ๕ ตำบลถนนนครไชยศรี อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ตั้งเป็นมูลนิธิให้ชื่อว่า "มูลนิธิเศรษฐเสถียร" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งตระกูล "เศรษฐบุตร" อันเป็นตระกูลของพระยานรเนติบัญชากิจ สามีของท่าน กับตระกูล "โชติกเสถียร" ซึ่งเป็นตระกูลของคุณหญิงเอง มูลนิธิเศรษฐเสถียร มีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือกับ กระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดสร้างโรงเรียนสอนคนหูหนวกขึ้นในที่ดินแห่งนี้

ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร โรงเรียนสอนคนหูหนวกและงบประมาณสำหรับครุภัณฑ์และการดำเนินงานของโรงเรียน ในปีที่บรรจบครบรอบปีที่ 2 แห่งการจัดการศึกษาสำหรับคนหูหนวกในประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๖ ได้มีพิธีเปิดโรงเรียนสอนคนหูหนวกในประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นทางการ

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งนี้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสอนคนหูหนวกดุสิต อันเนื่องมาจากกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณอาคารสงเคราะห์ทุ่งมหาเมฆ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายให้โรงเรียนสอนคนหูหนวกทั่วประเทศ เปลี่ยนชื่อ จากโรงเรียนสอนคนหูหนวก เป็นโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดต่างๆ คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ได้เสนอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนสอนคนหูหนวกดุสิต เป็นโรงเรียนเศรษฐเสถียร เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ มูลนิธิเศรษฐเสถียร ที่ยุบเลิกไป จึงปรากฏชื่อโรงเรียนเศรษฐเสถียร ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๑๘

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๕ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนเศรษฐเสถียร ไว้ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับพระราชทาน